ชัยชนะแรก #ชาวบ้านแหง ศาลปกครองพิพากษากรมป่าไม้อนุมัติอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนขัดต่อระเบียบ การอนุญาตแผ้วถางป่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Last updated: 7 มี.ค. 2563  |  553 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชัยชนะแรก #ชาวบ้านแหง ศาลปกครองพิพากษากรมป่าไม้อนุมัติอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนขัดต่อระเบียบ การอนุญาตแผ้วถางป่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2557 ชาวบ้านบ้านแหง อ.งาว  จ.ลำปาง 440 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่บ้านแหงเหนือ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ตัดสินใจฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ และใบอนุญาตแผ้วถางป่า ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ที่มีโครงการเข้ามาทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่

ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในพื้นที่ไม่เคยมีการทำประชาคมเรื่องการขอใช้พื้นที่ป่าแต่อย่างใด มีเพียงการจัดเวทีชี้แจงข้อมูลเรื่องเหมืองแร่ แต่กลับนำเวทีดังกล่าวไปอ้างว่าเป็นการประชาคม(ประชาคมเท็จ) แต่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหงในปีนั้นกลับอ้างประชาคมเท็จดังกล่าว เพื่อลงมติเห็นชอบให้บริษัทเหมืองแร่ใช้พื้นที่ป่าสงวน จนบริษัทเหมืองแร่นำมตินี้ไปยื่นขอใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนและใบแผ้วถางป่า จนได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านมาโดยตลอด 

ล่าสุดแหล่งข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ ได้นั่งบัลลังค์อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ส.13/2557 ระหว่าง นางสมหมาย หาญเตชะ ที่ 1 กับพวกรวม 439 คน ผู้ฟ้องคดีอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ประเด็นที่ศาลพิจารณามีทั้งหมด 3 ประเด็น กล่าวโดยสรุปว่า

ประเด็นที่ 1 คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สรุปจากคำพิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ร้อยสามสิบเก้าคน เป็นประชาชน หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ที่ทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม่งาวฝั่งซ้าย ซึ่งอยู่ในเขตคำขอประทานบัตร แม้ว่าผู้ฟ้องคดีบางรายจะไม่มีเอกสารสิทธิ แต่มีลักษณะการทำประโยชน์มาก่อน และต่อเนื่อง จึงถือได้ว่า เป็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และมีความเสียหายมากเป็นพิเศษกว่าคนทั่วไป จึงมีสิทธิมาฟ้องคดีต่อศาลได้ และอยู่ในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด จึงชอบด้วยกฎหมาย


ประเด็นที่ 2 การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ตามคำขอประทานบัตรที่ 5/2553 - 2/2553 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สรุปจากคำพิพากษาว่า ตั้งแต่มีการปิดประกาศเกี่ยวกับโครงการพิพาทให้รับทราบ ผู้ฟ้องคดีได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการ และมีการคัดค้านมาโดยตลอด  แสดงให้เห็นว่ามีความขัดแย้งภายในชุมชน อีกทั้งรายงานการประชุม เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 มีเพียงข้อมูลชี้แจงเฉพาะผลประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น ไม่มีการชี้แจงเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการเหมืองแร่ หรือ ข้อมูลเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่แต่อย่างใด ถือว่าไม่มีการชี้แจงข้อมูลอย่างถูกต้อง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 58 66 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่สามารถยุติปัญหาได้ และไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น การอนุมัติอนุญาตหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงขัดต่อระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 2548 ข้อ 8 (5) จึงพิพากษาให้เพิกถอน และให้ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น

ประเด็นที่ 3 ใบอนุญาตให้แผ้วถางป่า ตามคำขอประทานบัตรที่ 5/2553 - 2/2553 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สรุปจากคำพิพากษาว่า ใบอนุญาตให้แผ้วถางป่า ถึงแม้ว่าบริษัทจะเพิกถอนใบอนุญาตให้แผ้วถางป่าไปเองจนสิ้นผลแล้ว แต่การพิจารณาในการออกใบอนุญาตฯ เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนกรณีขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมสภา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 รายงานการประชุมชี้แจงราษฎรหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ลงวันที่ 28 กันยายน 2553 เป็นกระบวนการภายในทางปกครอง ซึ่งเห็นว่าย่อมสิ้นผลไปด้วยคำพิพากษานี้ จึงไม่ต้องมีคำพิพากษาให้เพิกถอน รายงานการประชุมสภาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 รายงานการประชุมชี้แจงราษฎรหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ลงวันที่ 28 กันยายน 2553

ส่วนคำขออื่นให้ยก

ทั้งนี้คดีปกครองที่กลุ่มชาวบ้านบ้านแหงในนาม กลุ่มรักษ์บ้านแหง ได้ยื่นฟ้อง ยังมีอีกสองคดีคือ คดีเพิกถอนใบไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร ซึ่งตัดสินคดีไปแล้วกลุ่มรักษ์บ้านแหงแพ้คดี เนื่องจากความสับสนระหว่างชื่อของกำนัน และผู้ใหญ่บ้านที่คล้ายกัน (ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดี) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการอุทธรณ์คำพิพากษา และอีกหนึ่งคดีคือการฟ้องเพิกถอนประทานบัตรทำเหมืองแร่ ที่ทางบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้ประทานบัตรไปแล้วหนึ่งแปลง ซึ่งจะนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 12 มีนาคมนี้ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 เมษายน 2563


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้