หลังจากที่สื่อได้นำเสนอประเด็นปัญหาครูอัตราจ้างในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ไม่ได้รับเงินเดือน11เดือน และเดินทางมาร้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางช่วยเหลือถึง 3ครั้ง เพราะเข้าใจว่าอำนาจในการตัดสินใจ และอนุมัติการจ่ายเงินอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ได้ทิ้งระเบิดตูมใหญ่ ไปที่ กกพ. โดยเปิดเผย ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าปัญหาทั้งหมด อยู่ที่ กกพ. ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ไม่มีอำนาจใดๆ และ ทำดีที่สุดแล้ว และพยายามให้ส่วนกลางช่วยเหลือมาตลอด แต่ กกพ.ก็นิ่งเฉยและไม่ยอมสั่งการใดๆ ทั้งๆที่เป็นอำนาจของ กกพ. เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินกองทุนฯดังกล่าว ซึ่งตนเองเห็นปัญหาที่สะสมมาหลายอย่าง
หลังจากคำอธิบายของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางปรากฎออกสู่โซเซียลมีเดีย มีประชาชนเข้าไปฟังจำนวนมาก ส่งผลเป็นแรงสะท้อนกลับไปยัง กกพ.ที่นิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไป
กระทั่งวานนี้ ( 30 ส.ค.) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ออกมาให้ข่าวผ่านหน้าเพจ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ว่า ในการประชุมวันที่ 25 สิงหาคม 2564 เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด -19) จึงพิจารณาเห็นชอบให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดทำข้อเสนอโครงการชุมชน โดยให้พื้นที่สามารถยกเว้นขั้นตอนการสำรวจความต้องการของชุมชน และสามารถใช้เงินกองทุน 97(3) ในปีงบประมาณ 2565 ในลักษณะต่างๆ ดังนี้
(1) การแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในโครงการป้องกันและควบคุมโควิด (2) การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในโครงการจ้างงานในท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและในโครงการเยียวยาและบรรเทาความเดือนร้อน
(๓) การจ้างงานแบบต่อเนื่องโดยจ้างบุคลากรวิชาชีพ เช่น โครงการจ้างบุคลากรทางการศึกษา โครงการจ้างบุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ และ (๔) การให้ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องเพื่อสร้างบุคลากรในการพัฒนาชุมชนเช่น วิศวกร แพทย์ ครู ฯลฯ โดยวางกรอบวงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 97(3) สำหรับโครงการลักษณะดังกล่าวในปีงบประมาณ 2565 เป็นวงเงิน 1,646 ล้านบาท โดยแต่ละกองทุนสามารถใช้เงินในโครงการลักษณะดังกล่าวได้
ไม่เกินร้อยละ 50 ของกรอบงบประมาณที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อกองทุน ทั้งนี้เงินกองทุนส่วนที่เหลือให้ปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานการมีส่วนร่วมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ โดยยังคงเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ
"ปัจจุบันกองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จำนวน 56 กองทุนกระจายทั่วประเทศ มีการบริหารโดยคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ (คพรฟ.) ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนที่มีความรู้ความสามารถร่วมเป็นกรรมการ กกพ. มองกลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเป็นกลไกที่สำคัญและมีประสิทธิภาพในการกระจายเม็ดเงินลงสู่พื้นที่เศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง จึงเห็นว่าควรจะใช้บทบาทกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเข้ามาช่วยสนับสนุนในการรับมือโควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจ การผ่อนปรนหลักเกณฑ์จะช่วยให้สามารถนำเงินไปใช้ในกิจกรรมที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งสำหรับปัญหาครูอัตราจ้างกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง กกพ. ไม่ได้นิ่งนอนใจอีกทั้งยังเร่งรัดให้แก้ปัญหาทางตัน โดยขณะนี้กำหนดให้ คพรฟ. นำโครงการที่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนแล้วเสนอกกพ. พิจารณาอนุมัติโดยตรง ล่าสุด กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ได้พิจารณาอนุมัติโครงการครูอัตราจ้างและโครงการจ้างบุคลากรด้านสาธารณสุข อำเภอแม่เมาะ จำนวน 91 อัตรา รวมวงเงิน 16,604,400 บาทภายใต้งบประมาณปี 2564 พร้อมทั้งแต่งตั้งนายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประธาน คพรฟ. ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงเพื่อขับเคลื่อนกลไกกองทุนแม่เมาะให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกองทุนให้เข้าสู่สภาวะปกติ"
แต่เรื่องคงยังเหมือนไม่จบ เมื่อมีการตั้งคำถามจาก นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขานุการกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องกองทุนรอบโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ต้น ระบุว่า ที่ผ่านมา2ปี ทำไม กกพ.ถึงไม่ทำหน้าที่ของตนเอง เมื่อกองทุนฯเกิดปัญหา กกพ.ซึ่งกำกับดูแลต้องลงมาแก้ปัญหาแต่ไม่ยอมทำหน้าที่ แม้จะมีการร้องเรียนปัญหาในพื้นที่ไปหลายครั้งแต่ก็นิ่งเฉย เมื่อมีข่าวออกมาวันนี้จะมาทำงานแบบขอไปที ตนเองเห็นใจครูที่ไม่ได้เงินเดือน แต่หากจะอนุโลมเฉพาะโครงการจ้างครูอัตราจ้างในพื้นที่ก็ไม่เป็นธรรมกับโครงการอื่นๆของชาวบ้านที่เคยขอไว้เช่นกัน หากจะอนุโลมก็ต้องอนุโลมทุกโครงการที่เคยเสนอไว้ ดังนั้นการที่ กกพ.ออกมาบอกว่าจะอนุมัติโครงการครูอัตราจ้างเพียงโครงการเดียวนั้น อยากทราบว่าใช้อำนาจอะไรพิจารณา และ โครงการต่างระเบียบก็กำหนดไว้อยู่แล้วว่า จะต้องได้รับการเสนอมาจากระดับหมู่บ้าน ตำบล และระดับจังหวัดกลั่นกรองและส่งให้ กกพ.พิจารณา หากจะอนุโลมเพียงไม่กี่โครงการก็ถือว่าทำผิดระเบียบ เพราะระเบียบที่ออกมาใช้บังคับกับทุกกองทุนทั่วประเทศ หากอนุมัติบางโครงการก็ถือว่าลพเว้น
ขณะที่ทางด้านนางสุกัญญา โถสุวรรณ์ คณะกรรมการกองทุนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ บอกว่า โครงการที่เสนอใช้งบประมาณปี 2564 ได้มีการเสนอโครงการทั้งหมดเข้ามายัง คพรฟ.แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณากลั่นกรอง จนกระทั่ง คณะกรรมการฯหมดวาระ ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการสรรหา คณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งขณะนี้ ยังขาดในสัดส่วนที่เป็นโควต้าของผู้ว่าราชการจังหวัด2คนที่ความเห้นไม่ตรงกัน เนื่องจาก กกพ.บอกว่าผิดระเบียบจึงไม่รับและให้ผู้ว่าฯสรรหาและส่งรายชื่อใหม่ ซึ่งตามข่าว ท่านผู้ว่าฯก็ยืนยันว่าทั้ง2คนถูกต้องและต้องให้ กกพ.ทบทวน ซึ่งขณะนี้ก็ยังคาราคาซัง เมื่อถามว่าการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่มาแทนที่หมดวาระมีกำหนดเวลาหรือไม่ นางสุกัญญา บอกว่าไม่มี จึงทำให้ขณะนี้ทุกอย่างหยุดชะงัก ส่วนที่ เลขาฯ กกพ.ออกมาแถลงว่าสามารถปลดล็อกโครงการได้แล้ว ก็ต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ คพรฟ.ชุดรักษาการได้ส่งโครงการให้พิจารณาแล้วรวม 3 โครงการที่มีภาระผูกพัน คือ โครงการจ้างครูอัตราจ้าง โครงการจ้างบุคลากรด้านสาธารณสุข และ โครงการเงินทุนนักเรียน โดยอาศัยระเบียบฯ ข้อ78/1 (3) งบประมาณในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าปีงบประมาณ 2564ที่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้แก่ รายจ่ายบุุคลากร และรายจ่ายดำเนินงาน ในกรณี คพรฟ.เห็นว่าเรื่องใดมีความจำเป็นเร่งด่วนและอาจเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการบริหารจัดการกองทุน ให้เสนอเรื่องต่อ กกพ.เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณีได้ ซึ่งหา กกพ.เห็นชอบตามนี้ครูอัตราจ้าง บุคลากรด้านสาธรณสุข และเงินทุนการศึกษานักเรียนรวมถึงเงินเดือนของบุคลากรสำนักงานก็จะได้รับการแก้ไข ส่วนการสรรหาคณะกรรมการก็คาดหวังว่าหากผู้ว่าราชการคนใหม่มารับหน้าที่ก็จะสามารถเสนอรายชื่อกรรมการอีก2คนให้ กกพ.พิจารณาโดยเร็ว เพื่อกองทุนฯจะได้เดินหน้าต่อไปได้