ผู้ว่าแนะประชาชนควรโหลด App ThaiWater ติดโทรศัพท์-เพื่อรับรู้สถานการณ์น้ำได้ทันท่วงที-พร้อมแนะให้หน่วยงานต่อยอดถึงขั้นแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบก่อนเกิดเหตุการณ์ได้ทันทีป้องกันความสูญเสีย

Last updated: 23 ก.ย. 2564  |  2399 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้ว่าแนะประชาชนควรโหลด App ThaiWater ติดโทรศัพท์-เพื่อรับรู้สถานการณ์น้ำได้ทันท่วงที-พร้อมแนะให้หน่วยงานต่อยอดถึงขั้นแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบก่อนเกิดเหตุการณ์ได้ทันทีป้องกันความสูญเสีย

 

 

วันนี้ ( 23 กันยายน 2564)  ศูนย์สารสนเทศทรัพยากรน้ำจังหวัดลำปาง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ชั้น4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง  นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานในการเปิดศูนย์สารสนเทศทรัพยากรน้ำจังหวัดลำปาง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูล

ซึ่งการเปิดศูนย์สารสนเทศทรัพยากรน้ำจังหวัดลำปาง ในวันนี้สืบเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันจังหวัดลำปางต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วม และภัยแล้งหลายต่อหลายครั้งซึ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนส่งผลกระทบทางด้านจิตใจที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา ทั้งนี้ความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการขาดความเข้าใจและการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทำให้ขาดความพร้อมต่อการรับมือ ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับใช้ติดตามสถานการณ์อากาศและน้ำ ประกอบด้วย ข้อมูลพายุ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำในเขื่อน และปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองทำให้เป็นระบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือนำไปใช้งานได้อย่างถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเฝ้าระวังและมีความพร้อมต่อการรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งจะช่วยลดความสูญเสียลงได้


การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศทรัพยากรน้ำจังหวัดลำปาง จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บัญชาการ/สั่งการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำ อาทิ

ด้านอุทกภัย ข้อมูลที่ใช้จะประกอบไปด้วย

1. ข้อมูลระดับปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ โดยแสดงข้อมูลระดับน้ำ และแทนค่าการเตือนภัยน้ำท่วม เช่น แดงเข้มหมายถึงระดับน้ำที่เกินกว่า 100% ของ ระดับน้ำกักเก็บ หรือ สีแดงหมายถึงระดับน้ำระหว่าง 80-100% ของระดับน้ำกักเก็บ เป็นต้น

2. ข้อมูลระดับน้ำ โดยแสดงข้อมูลระดับน้ำของแต่ละสถานี และแทนค่าสีในการเตือนภัยน้ำท่วม เช่น สีแดงหมายถึงระดับน้ำล้นตลิ่ง สีน้ำเงินหมายถึงระดับน้ำมาก หรือ สีเขียว หมายถึงระดับน้ำปกติ เป็นต้น

3. ข้อมูลปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง โดยแสดงข้อมูลน้ำฝนของสถานีวัดน้ำฝน และ แทนค่าสีในการเตือนภัยน้ำท่วม เช่นสีแดง หมายถึงปริมาณฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร หรือ สีน้ำตาลหมายถึงปริมาณน้ำฝน 70-40 มิลลิเมตร

  4. ข้อมูลเส้นทางพายุ ภาพเมฆ และเรดาร์ ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในการติดตามและเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัย นอกจากนี้ ยังมีการติดตามน้ำท่วมฉับพลันในระบบดังกล่าวด้วย

ด้านปัญหาภัยแล้ง ข้อมูลที่ใช้จะประกอบไปด้วย

1. ข้อมูลระดับน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ โดยแสดงข้อมูลระดับน้ำ เทียบกับระดับน้ำกักเก็บ และแทนค่าสีในการเตือนภัยแล้ง เช่น สีเหลืองหมายถึงระดับน้ำน้อยกว่า 30% ของระดับน้ำกักเก็บ หรือ สีเขียวหมายถึงระดับน้ำระหว่าง 31-50% ของระดับน้ำกักเก็บ เป็นต้น

2. ข้อมูลระดับน้ำ โดยแสดงข้อมูลระดับน้ำของแต่ละสถานี และแทนค่าสีในการเตือนภัยแล้ง เช่น สีน้ำตาลหมายถึงระดับน้ำน้อยวิกฤต หรือสีเหลืองหมายถึงระดับน้ำน้อย เป็นต้น


นายณรงค์ศักดิ์ ได้กล่าวว่าหากข้อมูลทั้งหมดประชาชนได้รับรู้ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์จะสามารถช่วยลดการสูญเสียได้ แม้ว่าภาคเหนือจะชินกับการเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก คือคิดว่าน้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง แต่หากประชาชนรู้ก่อนว่าจะเกิดน้ำท่วมแล้วสามารถเก็บสิ่งของหรือเตรียมพร้อมรับมือได้ทันก็จะดีกว่าเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งอยากให้หน่วยงานได้ใช้ประโยชน์จากแอพพิเคชั่น ThaiWater ให้คุ้มค่าและประชาชนสัมพันธ์ให้ประชานได้โหลดติดโทรศัพท์ไว้เพื่อตรวจสอบข้อมูล และในอนาคตอยากให้ตั้งโครงการเพื่อต่อยอดหากสามารถทำเป็ฯแบบแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนทราบในลักษณะเหมือนที่ธนาคารแจ้งเตือนเวลามีเงินเข้า-ออก ในบัญชี ได้ถึงขั้นนั้นประชาชนจะได้ประโยชน์มาก


ทางด้านนายชัยธวัช ศิวบวร หัวหน้าสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ทางสำนักงานจะใช้ข้อมูลส่วนกลางของแอพพิเคชั่น ThaiWater แล้วนำมาเรียบเรียงข้อมูลใหม่เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย จากเดิมอาจจะเป็นภาษาทางราชการเข้าใจยาก ตนจึงนำมาทำให้และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบความเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องปริมาณฝน พายุ พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย เป้ฯต้น ซึ่งในแอพพิเคชั่นจะมีการรายงานข้อมูลเป้นช่วงเวลาแต่ก็ถือว่ารวดเร็ว

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้