เปิดงาน "ข่วงหลวงเวียงละกอน" ครั้งที่1 "ฮักหนาลำปาง" บอกเล่าเรื่องราวเมืองเก่าเขลางค์1300ปี๋ เมือง3ยุค

Last updated: 5 ธ.ค. 2564  |  1230 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดงาน "ข่วงหลวงเวียงละกอน" ครั้งที่1 "ฮักหนาลำปาง" บอกเล่าเรื่องราวเมืองเก่าเขลางค์1300ปี๋ เมือง3ยุค

 

 

วันนี้ ขบวนช้างเผือก 3 เชือก ได้เดินนำหน้าขบวนเครื่องสักการะพระนางจามเทวี และพระเจ้าอนันตยศ ตามด้วยขบวนรถม้า ขบวนรถรางนำเที่ยว เดินผ่านถนนสายบุญวาทย์หรือถนนสายกลางจากห้าแยกหอนาฬิกาไปยังสถานที่จัดงาน "ข่วงหลวงเวียงละกอน" ครั้งที่ 1 ณ ลานข่วงหลวงเวียงละกอน หน้ามิวเซียมลำปาง


เมื่อขบวนไปถึงช่างฟ้อนได้ฟ้อนไหว้สาป๋าระมีถวายพระนางเจ้าจามเทวี และ พระเจ้าอนันตยศ  ก่อนที่พันเอกสันดุษิต ดีบุกคำ ประธานคณะกรรมการอำนวยการและประสานงานเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า ได้กล่าวรายงานการจัดงานต่อ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ว่า เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า ได้ตระหนักในความสำคัญของการสร้างบ้านเมืองบนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำวังกว่า 1,300 ปี นับจากผู้ครองแคว้นหริภุญไชย เลือกทำเลฝั่งของแม่น้ำวังเป็นที่ตั้งเมือง และขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า "เขลางค์นคร" ก่อนจะสร้างเมืองเพิ่มโดยให้ชื่อว่า "อาลัมพางค์นคร" จนเกิดเป็นชื่อใหม่ที่ผู้คนเรียกขานว่า "เขลางค์ลัมพางค์"  ต่อมาในยุคที่ 2 ชื่อ "เขลางค์นคร" ได้เปลี่ยนเป็น "เมืองละกอน" (นะคอร / ละคอร / นคร) โดยมีวัดปงสนุกเป็นศูนย์กลาง เมื่อดินแดนแถบนี้เป็นเมืองขึ้น ก็ถูกถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อที่ผสมผสาน ม่าน มอญกับศิลปแบบเชียงแสน สุโขทัย และอยุธยา เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้  ปัจจุบันลำปางมีเชื้อชาตรวมกันถึง12 ชาติพันธุ์ เรื่องราวต่างๆได้ถูกทอดผ่านเวลากว่า 1,300 ปี แล้ว


จากนั้นนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประธานในพิธี ได้สักการะพระนางจามเทวี ก่อนจะกล่าวเปิดงานว่า จังหวัดลำปางเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ ได้เดินทางมาถึง 3 ยุค อายุกว่า 1,300 ปี ปััจจุบันก็ยังคงอัตลักษณ์ของลำปางเอาไว้ได้ การจัดงานวันนี้แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่1แต่ก็จัดได้อย่างดี ซึ่งการจัดงานวันก็จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ รากเหง้า ธรรมเนียมประเพณี ของจังหวัดลำปาง ที่ได้ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบันถือว่ามีคุณค่าอย่างสูงยิ่ง เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต มีการสืบสานต่อยอดไม่ให้สูญหายไป ซึ่งเป็นมิติของความเป็นเมืองเก่า เป็นเมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา กาลเวลาไม่สามารถมาทำลายสิ่งดีงามของเมืองลำปางได้ แม้จะหมุนมาถึง 1,300 ปกว่าปีแล้วก็ตาม แต่ก็จะยังคงอยู่ ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน นี่คือจุดที่โดดเด่นของลำปาง นครลำปาง ความเป็นเมืองเก่า แต่การพัฒนาต้องมีหลายมิติ ด้านหนึ่งความเป็นเมืองเก่าก็ต้องสืบสาน รักษาและอนุรักษ์และต่อยอดต่อไปไว้ แต่อีกด้านหนึ่งความเป็นเมืองใหม่ก็ต้องพัฒนาและมองให้ควบคู่ไปด้วยไปกัน

หลังจากประธานกล่าวเปิดงานเสร็จก็ มีการแสดงกลองปู่จา ฟ้อนเจิงฟ้อนดาบตามแบบเบ้า ชมนิทรรศการ “โตยฮอยเมืองเก่า 1,300 ปี๋ ฮีตฮอยคนดี ของดีตี้ลำปางเมือง 3 ยุคจุมผญา-ชาติพันธุ์เมืองละกอนตะลอน เวียงเก่าเข้ากาดหมั้วคัวลำ” และเพลิดเพลินกับ “ละอ่อนปล่อยของ คนมีของอวดพระเครื่อง” ชมการแสดงจากเด็กและเยาวชนที่ร่วมแสดงความสามารถบนเวทีและเชิญร่วมกิจกรรมประกวดพระเครื่องยุคหริภุญไชยและพระเกจิดังแห่งนครลำปางและล้านนา


สำหรับกิจกรรมในวันพรุ่งนี้ ที่ 5 ธันวาคม กิจกรรมใส่บาตรพระสงฆ์ 39 รูป รอบวิหารหลวงพ่อดำเป็นพระราชกุศลและเชิญชวนรับดอกไม้ธูปเทียนเพื่อ "สักการะหลวงพ่อดำรำลึกถึงพ่อแห่งแผ่นดิน" และชมนิทรรศการภาพถ่าย "ย่างพระบาทที่ยาตรา" ภาคกลางวัน-เย็น การแสดงดนตรี "บทเพลงพระราชนิพนธ์" จากวงดุริยางค์ค่ายสุรศักดิ์มนตรี และรับฟังการขับซอล้านนาจากคณะเสียงซอเวียงละกอน กลุ่มเด็กน้อยเมืองปาน ท่ามกลางบรรยากาศกาดมั่วคัวแลง

วันที่ 6 ธันวาคม พบกับนิทรรศการและกิจกรรมตะลอนเมืองเก่าตามอัธยาศัย การแสดงดนตรีโดยวงดุริยางค์ค่ายสุรศักดิ์มนตรี วงออเคสตร้าโดยโรงเรียนลำปางกัลยาณี พร้อมด้วยวงปี่พาทย์ วงดนตรีไทย วงสะล้อซอซึง ศิลปินขับบทกวีล้านนา (ค่าว) สลับกันบรรเลงเพลงภายใต้แนวคิด ONE SONG ONE LAMPANG "ชาวลำปางร่วมพลังเป็นหนึ่งเดียว"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้