ศาลสั่งรังวัดที่ใหม่-บริษัทยักษ์ใหญ่เช่าที่ธนารักษ์ฟ้องขับไล่ที่ชาวบ้านที่อาศัยมากกว่าครึ่งศตวรรษ-ขึ้นทะเบียนบ้านเป็นหลังแรกตั้งแต่ มท.ประกาศเป็นหมู่บ้านปี 14

Last updated: 24 ต.ค. 2565  |  502 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาลสั่งรังวัดที่ใหม่-บริษัทยักษ์ใหญ่เช่าที่ธนารักษ์ฟ้องขับไล่ที่ชาวบ้านที่อาศัยมากกว่าครึ่งศตวรรษ-ขึ้นทะเบียนบ้านเป็นหลังแรกตั้งแต่ มท.ประกาศเป็นหมู่บ้านปี 14

เจ้าหน้าที่รังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้เข้าตรวจสอบเขตและรังวัดพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลเกาะคา บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด (บริษัทน้ำตาลเกาะคา จำกัด เดิม) และบ้านเรือนของชาวบ้าน ตามคำสั่งศาลจังหวัดลำปาง ที่ ศย 305 010/7586 ซึ่งนางสุนันต์ สมศรีพงษ์ จำเลย ได้ยื่นคำร้องขอรังวัด หลังถูกบริษัทฟ้องขับไล่ โดยมีตัวแทนของธนารักษ์ลำปาง และ ตัวแทนของบริษัทฯ เข้าร่วมตรวจสอบและสังเกตุการณ์ด้วย

โดยอ้างว่าครอบครัวของนางสุนันต์ได้สร้างบ้านที่พักอาศัยอยู่ก่อนที่บริษัทฯ จะเช่าพื้นที่กับธนารักษ์จังหวัดลำปาง เมื่อบริษัทเช่าพื้นที่ ธนารักษ์จังหวัดลำปางไม่สามารถมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กับบริษัทฯ ได้ เพราะยังมีบ้านของชาวบ้านบุกรุกพื้นที่สร้างบ้านพักอาศัยไม่มีเลขที่อยู่ บริษัทฯ จึงนำเรื่องฟ้องศาล เนื่องจากทำให้บริษัทเสียประโยชน์เพราะถูกรอนสิทธิ พร้อมเรียกค่าเสียประโยชน์เป็นเงิน 48,000 บาท

ซึ่งทางครอบครัวของนางสุนันต์ได้ต่อสู้ว่า ครอบครัวของตนและชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ได้ตั้งรกรากปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยมากว่า 50 ปี คือก่อนปี 2514 ปรากฏตามรูปแผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 60 ฉบับพิเศษหน้า 71-73 วันที่ 3 สิงหาคม 2499 ที่ระบุชัดเจนว่าบริเวณที่ตั้งบ้านของนางสุนันต์ (จำเลย) และใกล้เคียงซึ่งเป็นญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน เป็นหมู่บ้าน

กระทั่งปี พ.ศ. 2514 ทางราชการได้มีการขึ้นทะเบียนบ้าน ซึ่งบ้านของนางสุนันต์และญาติ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหลังแรกคือบ้านเลขที่ 1 และบ้านเลขที่ 91 ม.5 ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง และต่อมาได้มีการขอใช้น้ำ ไฟฟ้า ตามระเบียบของทางราชการอย่างถูกต้อง

ปี พ.ศ. 2547 ระบุว่ามีรายชื่อผู้อาศัยอยู่ก่อนที่จะมีการรังวัดพื้นที่ราชพัสดุ กระทั่งในปีพ.ศ. 2551 ได้มีการรังวัด (ฝ่ายเดียว) โดยครอบครัวและชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวไม่ทราบเรื่องใดๆ เหมารวมพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งบริเวณที่ชาวบ้านสร้างที่พักอาศัยอยู่ก่อนเป็นพื้นที่ราชพัสดุ รวม 226 ไร่

แต่ด้วยความไม่รู้และไม่เคยได้รับการติดต่อประสานงานจากทางราชการ ให้ไปดำเนินการเรื่องขอเอกสารสิทธิในที่ดิน ทางครอบครัวจึงอาศัยอยู่แบบชาวบ้านทั่วไปอย่างสงบและเปิดเผยเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูก หลาน จนถึงปัจจุบันก็ยังอาศัยอยู่โดยมีทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคมทั้งสิ้น และจากการตรวจสอบสัญญาเช่าและแผนที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ยังพบว่าพื้นที่ที่พักอาศัยของครอบครัว อยู่นอกเขตรั้วของบริษัทน้ำตาลเกาะคา ปัจจุบันยังคงปรากฏรั้วลวดหนามของโรงงานบริเวณหลังบ้านพักโรงงานปรากฏให้เห็น



ย้อนดูการเช่าพื้นที่ของบริษัทน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด (บริษัทน้ำตาลเกาะคาเดิม) ประมาณปี พ.ศ. 2547-2563 ได้เช่าพื้นที่ราชพัสดุ เริ่มต้น 70 ไร่ 98.89 ตารางวา มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย ระยะเวลาเช่า 3 ปี (18 มี.ค. 2547-17 มี.ค. 2550 ต่อมาได้มีการต่อสัญญาอีก 6 ครั้ง ครั้งสุดท้ายต่อสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 เนื้อที่ 63 ไร่ 2 งาน 22.25 ตารางวา ต่ออายุสัญญาไปอีก 3 ปี(1 ม.ค. 2565-31 ธ.ค. 2566)

แต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2560 บริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญาเช่ากับราชพัสดุจากที่เคยเช่าเพื่ออยู่อาศัยเป็นเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เนื้อที่ 79 ไร่ 11.20 ตารางวา มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร ระยะเวลาเช่า 1 ปี (1 ม.ค. 2560-31 ธ.ค. 2560) ต่อสัญญามาอีก 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายต่อสัญญาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 ต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 ปี (1 ม.ค. 2564-31 ธ.ค. 2566) รวม 51 ไร่ 49.20 ตารางวา (ซึ่งที่ตั้งโรงงานน้ำตาลปัจจุบันได้กลายเป็นที่ตั้งของบริษัทฯน้ำเมารายใหญ่เข้าใช้ประโยชน์)

เมื่อดูตามแผนที่ประกอบสถานที่จริงจะเห็นได้ว่า แนวริมตลิ่งแม่น้ำวังซึ่งรวมถึงบ้านของจำเลยที่ถูกฟ้อง เดิมก่อนมีการที่จะมีการจัดตั้งสุขาภิบาลเกาะคา จะมีบ้านเรือนชาวบ้านที่ครอบครองและอาศัยอยู่ตลอดแนว และเมื่อดูพื้นที่บ้านพักอาศัยของจำเลยผู้ถูกฟ้อง ก็มิได้อยู่ในแนวเขตของสัญญาเช่า แต่บริษัทฯ อ้างสิทธิทั้งหมดของพื้นที่ราชพัสดุ ที่เคยรังวัดฝ่ายเดียวรวม 226 ไร่ ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้เช่า มาฟ้องขับไล่ชาวบ้าน โดยก่อนหน้านั้นชาวบ้านซึ่งถูกบริษัทฯแจ้งให้รื้อบ้านออกไปจากพื้นที่ ยอมรื้อบ้านที่ตนเองอยู่มานานออกไปแล้วหลายหลังด้วยความไม่รู้ข้อกฎหมายและเกรงกลัว



สำหรับกรณีครอบครัวของนางสุนันต์ ซึ่งอาศัยอยู่บนที่ดินแปลงนี้มาโดยตลอด ไม่มีที่ไป และมีเพียงนางสุนันต์ที่ประกอบอาชีพรับจ้างหาเลี้ยงคนในครอบครัวซึ่งมีเด็ก และผู้สูงอายุที่พิการ จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัว

ศาลจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งให้มีการตรวจสอบชี้แนวเขตทั้งสองฝ่าย คือพื้นที่ที่บริษัทฯ อ้างว่าได้เช่าพื้นที่กับราชพัสดุ ซึ่งระบุว่ามีบ้านของจำเลยบุกรุกอยู่ และแนวเขตของจำเลยที่มีการโต้แย้งสิทธิว่าอยู่นอกเขตที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าไว้ โดยให้ทางสำนักงานที่ดินนำส่งข้อมูลรายงานต่อศาลในวันที่ 14 พ.ย. และนัดพร้อมในวันที่ 21 พ.ย. 2565 นี้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้