เศร้าฉีดยาให้พังสีเวยวัย65ปีจากไปอย่างสงบหลังเข้ารักษาตัวที่มูลนิธิเพื่อนช้างได้20วันด้วยอาการท้องผูก

Last updated: 5 ส.ค. 2566  |  2477 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เศร้าฉีดยาให้พังสีเวยวัย65ปีจากไปอย่างสงบหลังเข้ารักษาตัวที่มูลนิธิเพื่อนช้างได้20วันด้วยอาการท้องผูก



สืบเนื่องจาก เมื่อ วันที่ 15 กค.เวลา 23.00 น. พังสีเวยได้ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลมูลนิธิเพื่อนช้าง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จากการสอบถามเจ้าของช้างทราบว่า พังสีเวยถ่ายเป็นก้อนเล็กมาประมาณ 3-4 วัน และคืนวันที่ 14 ก.ค. ช้างยังถ่ายได้ เช้าวันที่ 15 กค.ก่อนมา ช้าง ไม่ถ่าย มีอาการอ้าปาก ผุดลุกผุดนั่ง ซึม ไม่กินอาหาร ไม่กินน้ำ จึงติดต่อทาง มช.ประสานส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง

เมื่อมาถึงหมอทำการตรวจร่างกายพังสีเวยพบว่าช้างมีอาการซึม ไม่กินอาหาร ไม่กินน้ำ ไม่ถ่าย และไม่ผายลม วัดอุณหภูมิได้ 36.7 องศาเซลเซียส (ปกติ) ชีพจร 37 ครั้ง/นาที (มากกว่าปกติเล็กน้อย ปกติ 25-35 ครั้ง/นาที) เยื่อเมือกสีปกติ หมอฉีดวิตามินให้ 1 เข็ม ให้สารน้ำ 30 ลิตร ฉีดยากระตุ้นระบบทางเดินอาหาร ฉีดยาลดปวดเกร็งในช่องท้อง  ทำการล้วงสวน เจอแต่เศษหญ้า


ในวันต่อมาหลังกินมะขามเปียก กล้อวย พังสีเวย ถ่ายออกมาเอง 1 กอง หนัก 3 ก.ก. เป็นก้านหญ้าแก่ ต้นข้าวโพด ใบข้าวโพด และกล้วยที่ไม่ย่อย จากนั้นได้รักษาตามอาการ มาโดยตลอด ทั้งให้ยาปฎิชีวนะ การประคบสมุนไพร สวน ฯลฯ โดยมีทีมสัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ มาช่วยในการรักษาด้วย 


สุดท้าย คืนที่ผ่าน ซึ่งเป็นการรักษาครบ 20 วัน อาการพังสีเวยไม่ดีขึ้นและเริ่มทรุดจึง ได้ระดมทีมสัตว์แพทย์เพื่อจะช่วยเอาก้อนในท้องพังสีเวยออกมาให้ได้ หมอจึงเริ่มจาก ทำการสวน ตรวจเลือด และ ทำการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ ผลที่ได้ พบว่าลำไส้ใหญ่ส่วน cecum (ไส้หมัก; ลำไส้ใหญ่ส่วนแรกที่ต่อมาจากลำไส้เล็ก) มีการฉีกขาด(แตก) มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว พบ น้ำจากทางเดินอาหารอยู่ในช่องท้อง และพบ fibrin (โปรตีนที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว) จำนวนมาก (ผล ultrasound ด้านขวาจะเจอเยอะกว่าด้านซ้าย) บริเวณผนังลำไส้ที่ฉีกขาดมีเนื้อเยื่อพังผืดมาเกาะ ท้องที่ขยายใหญ่ เป็นน้ำที่หลุดจากผนังลำไส้มาอยู่ในช่องท้อง ไม่ใช่แก๊สภายในลำไส้ ไตมีการบวมอักเสบ เนื่องจากมีอาการป่วยต่อเนื่องมานาน ลำไส้ใหญ่มากบังตับทำให้มองไม่เห็นตับ ไม่พบก้อนมูลที่เป็นปัญหา คาดว่าก้อนมูลอาจอยู่บริเวณลำไส้ส่วน cecum (ไส้หมัก) หรือ ก่อนเข้าลำไส้ส่วน rectum (ไส้ตรง)ช้างอยู่ได้ถึงทุกวันนี้เนื่องจากการคุมการติดเชื้อและได้สารน้ำทุกวัน หากปล่อยนานกว่านี้ช้างจะทรมาน ลำไส้ที่ขยายใหญ่ดันไปกดช่องอก ทำให้ช้างหายใจไม่ออกและช็อคเสียชีวิต



  จากปัญหาดังกล่าวเพื่อไม่ให้พังสีเวยซึ่งอายุมากต้องทนทรมานอีกต่อไปจึงนำความเห็นของทีมแพทย์ประสานเจ้าของช้างและยินยอมให้ฉีดาให้พังสีเวยจากไปจากสงบท่ามกลางความเศร้าของทีมแพทย์ที่รักษา

ทั้งนี้สัตวแพทย์หญิงเครือทอง ขยัน  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้างมูลนิธิเพื่อนช้าง ได้เตือนเจ้าของช้างในช่วงนี้พบช้างท้องอืดท้องผูกมากขอให้เจ้าของ โปรดระมัดระวังการให้อาหารช้าง และระวังการนำช้างไปหาอาหารกินเอง เพราะความหิว ช้างอาจกินอาหารย่อยยากเข้าไป หากช้างอายุมากควรบดอาหารให้ช้าง ไม่ควรนำอาหารย่อยยาก เช่น ต้นข้าวโพดก้านหญ้า ทางมะพร้าว ต้นกล้วย เถาวัลย์ จะย่อยยากและเกิดปัญหา ช้างเกิดอาการท้องผูกถ่ายไม่ออกเกิดความทุกข์ทรมานและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้