เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น-จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต-อุทยานแรกที่ภาคประชาชนขอตั้ง

Last updated: 28 มิ.ย. 2565  |  610 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น-จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต-อุทยานแรกที่ภาคประชาชนขอตั้ง

วันนี้ ที่ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต(เตรียมการ) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต และรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต โดยนายพีระเมศร์ ตื้อตันสกุล ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ กล่าวรายงานต่อนายปิยะ หนูนิล ผอ.สบอ.13สลป  โดยมีผู้นำบริหารท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ตำบลพระบาท ตำบลพิชัย อ.เมือง ตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะแม่เมาะ(บางส่วน) ตำบลแม่ทะ อ.แม่ทะ (บางส่วน) ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน องค์กรในพื้นที่ร่วม 100 คน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นและเสนอข้อห่วงใยเพื่อไม่ให้กะทบกับการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่

สำหรับการขอจัดตั้งพื้นที่ดอยพระบาทให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นแห่งแรกที่เป็นความต้องการของภาคประชาชนที่ต้องการช่วยกันแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเสนอภาครัฐให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จากกรณีที่เดิมดอยพระบาท ซึ่งเป็นพื้นที่เขตแห้งแล้ง และมักมีปัญหาไฟป่าและเป็นแหล่งเกิดหมอกควันสู่เมือง เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ใกล้ตัวเมืองลำปางมากที่สุด อีกทั้งเริ่มมีการขยายตัวของชุมชนรอบๆ อย่างต่อเนื่อง ภาคประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่ดอยพระบาท จึงเกรงว่าในอนาคตอาจมีการรุกล้ำพื้นที่ป่ามากขึ้น กลุ่ม เครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งนำโดยนายสำคัญ วรรณบวร และนายบริบูรณ์ บุญยู่ฮง จึงรวมตัวกันร่วมกับภาครัฐ เพื่อขอความเห็นชอบให้เสนอพื้นที่ดอยพระบาทเป็นอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต อันเป็นชื่อดั้งเดิมของ เทือกเขานี้ และได้สอดคล้องกับโครงการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายป่าไม้ แห่งชาติ ซึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต มีวนอุทยานม่อนพระยาแช่ และสวนรุกข-ชาติพระบาท อันเป็นหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อยู่เดิมแล้วส่วนหนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้มีคำสั่งที่ 1385/2560 ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ให้นางสาวดวงพร เกียรติดำรง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ดำเนินการสำรวจ ควบคุม และดูแลพื้นที่เตรียมการประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต ซึ่งตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับราษฎร รวมถึง ดำเนินการประชุมและการเดินแนวเขตอย่างมีส่วนร่วมให้ครบถ้วนตามขั้นตอน เพื่อให้ความตั้งใจของภาค ประชาชนที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกต้องตาม กฎหมาย ตามศักยภาพที่ป่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อย่างมั่นคงและยั่งยืน บรรลุผลตาม แนวทาง “อุทยานฯ ประชารัฐ”

พื้นที่สำรวจขอจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต อยู่ระหว่างเส้นรุ้ง (Latitude) ที่ ละติจูด 18 องศา 13 ลิปดา 41 ฟิลิปดา เหนือ ถึง ละติจูด 18 องศา 29 ลิปดา 31.88 ฟิลิปดา เหนือ และ เส้นแวง (Longitude) ที่ ลองจิจูด 99 องศา 32 ลิปดา 52.3 ฟิลิปดา ตะวันออก ถึง ลองจิจูด 99 องศา 44 ลิปดา 42 ฟิลิปดา ตะวันออก รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 49,380 ไร่ หรือ 79 ตารางกิโลเมตร คาบเกี่ยวพื้นที่ป่า ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ได้แก่ 1) ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยางแม่อาง ตั้งอยู่ในท้องที่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ ประมาณ 33,364.37 ไร่ หรือ 53.38 ตารางกิโลเมตร 2) ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง ตั้งอยู่ในท้องที่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 2,942.17 ไร่ หรือ 4.70 ตารางกิโลเมตร 3) ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะ ตั้งอยู่ในท้องที่ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 12,506.57 ไร่ หรือ 20.01 ตารางกิโลเมตร 4) พื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ในท้องที่ตำบลพระบาท และตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 567.22 ไร่ 0.90 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ต.แม่ทะ ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.แม่เมาะ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง มีพื้นที่ที่คาบเกี่ยวซ้อนทับทั้งสิ้น 7 ตำบล คือ 1) ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 2) ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 3) ตำบลเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 4) ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 5) ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 6) ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 7) ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

การจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต และการวางแผนการให้คำปรึกษา แนะนำ สนับสนุน และติดตามผลการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติ และเพื่อให้สามารถตอบสนองนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่คุ้มครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางระบบเครือข่ายทคโนโลยีสารสนเทศสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง ทางเว็บไซต์  https://portal.dnp.go.th/p/Lampang  และทางเว็บไชต์ www.dnp.go.th

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้