หนุ่มพนักงานบริษัท-เจ้าของธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ เจอผลกระทบโควิดรอบแรก เจอคลิปคนเลี้ยงหนูพุก ลองศึกษา-ลงทุนซื้อพ่อพันธุ์/แม่พันธุ์แค่ 700 บาท เลี้ยงจนเปิดฟาร์มขายทั้งหนูตัวเป็นๆ หนูชำแหละ หนูปรุงสุก ทำเงินทุกวันตลอดปี

Last updated: 28 ก.พ. 2565  |  649 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หนุ่มพนักงานบริษัท-เจ้าของธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ เจอผลกระทบโควิดรอบแรก เจอคลิปคนเลี้ยงหนูพุก ลองศึกษา-ลงทุนซื้อพ่อพันธุ์/แม่พันธุ์แค่ 700 บาท เลี้ยงจนเปิดฟาร์มขายทั้งหนูตัวเป็นๆ หนูชำแหละ หนูปรุงสุก ทำเงินทุกวันตลอดปี

 

 

ณุชนก ขันเชียงทอง อาศัยอยู่บ้านแม่เฟือง ต.บ้านเอื้อม อ.เมืองลำปาง กำลังเป็นที่สนใจและถูกกล่าวขวัญถึง เมื่อเขาตกลงใจทำฟาร์มเลี้ยงหนูนา หรือหนูพุก ซึ่งเป็นหนูเนื้อ ที่มีกลุ่มคนนิยมรับประทาน เพราะเนื้อหนูนอกจากมีโปรตีนสูงแล้วยังมีไขมันต่ำ ขณะที่ราคาจำหน่ายในร้านอาหารเทียบเท่ากับเป็ดหัน 1 ตัวเลยทีเดียว

ณุชนกได้นำเยี่ยมชมฟาร์มหนูของตัวเอง ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 50 บ่อ แยกเป็นบ่อที่ให้พ่อ-แม่พันธุ์ผสมพันธุ์ บ่อสำหรับแม่ลูกอ่อน และบ่อขุนพร้อมจำหน่าย ซึ่งบางตัวอ้วนจนหนักเกือบ 2 กก.ทีเดียว พร้อมเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทำงานบริษัท และทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ อยู่ ไม่เคยรู้ถึงเรื่องการเลี้ยงหนูพุกมาก่อน แต่พอเจอพิษโควิดรอบแรก งานที่ทำ-ธุรกิจที่มีได้รับผลกระทบหมด

กระทั่งได้ไปเห็นการเลี้ยงหนูพุกในยูทูบของกลุ่มคนเลี้ยงหนู ก็เกิดความสนใจและได้สอบถามคนเลี้ยงจนมั่นใจว่าสามารถทำได้จริง จึงทดลองสั่งพ่อ-แม่พันธุ์หนูมาลองเลี้ยงครั้งแรก 5 คู่ ลงทุนไปคู่ละ 700 บาท ส่วนบ่อมาวางซ้อนกัน 2 บ่อต่อ 1 คู่ 300 บาท ก่อนหาวัสดุที่มีในบ้านมาทำฝาปิดและอื่นๆ ซึ่งถือว่าการลงทุนน้อยมากกับสภาวะเศรษฐกิจที่เจอพิษโควิด

หลังจากนั้น 1 เดือน หนูพุกที่เลี้ยงไว้ก็ออกลูก แม่พันธุ์แต่ละตัวออกลูกอย่างน้อย 7 ตัว จึงแยกแม่ลูกออกจากพ่อพันธุ์เพื่อให้ลูกกินนมแม่อีก 1-1.5 เดือน ก่อนที่จะแยกลูกออกมาขุน เพิ่มอาหารบำรุงแม่พันธุ์ และนำผสมพันธุ์ใหม่ได้ทันทีก็จะวนกันไปในลักษณะนี้ โดยแม่พันธุ์ก็จะผสมพันธุ์ไปเรื่อยประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้นอยู่ที่ความสมบูรณ์ของแต่ละตัว

เรื่องอาหารไม่ยุ่งยาก หนูจะกินพืชผักทางการเกษตรเป็นหลัก อาทิ ข้าวโพด ยิ่งเป็นข้าวโพดหวานยิ่งชอบ ก็จะซื้อจากเกษตรกรที่คัดแบบตกเกรดราคาถูก อ้อย หญ้า กล้วย ใบกระถิน หนูกินได้หมด แต่จะเสริมอาหารสำหรับหนูบ้าง ซึ่งหนูจะกินอาหารไม่เยอะ และจะกินเพียงตอนเย็นเท่านั้น กินเสร็จก็จะผสมพันธุ์คือธรรมชาติของหนู ส่วนกลางวันจะนอน ดังนั้นคนเลี้ยงไม่จำเป็นต้องเฝ้า มาดูในตอนเย็นหากอาหารพร่องก็เติมอาหารเติมน้ำไว้เท่านั้น ที่เหลือหนูก็จะอยู่เองตามธรรมชาติ

เมื่อขุนได้ 3-4 เดือน ก็ชั่งน้ำหนักดู หากน้ำหนักหนูแต่ละตัวได้ขั้นต่ำ 5-6 ขีดก็จับขายได้แล้ว เมื่อมีคนสนใจซื้อเป็นตัว ราคาขายหน้าฟาร์มตัวเป็นๆ เพื่อเอาไปเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ คู่ละ 700 บาท หรือถ้าจะเลี้ยงเหมือนกับที่ฟาร์มของตนเลี้ยงในขณะนี้ คือ 1 บ่อ ใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 2 ตัว รวมเป็น 3 ตัว ราคา 1,000 บาท

ส่วนหนูเป็นเพื่อนำไปทำอาหาร กิโลกรัมละ 150-180 บาท ถ้าเป็นหนูชำแหละพร้อมนำไปทำอาหาร ขายกิโลกรัมละ 200 บาท แต่แปรรูปเป็นเมนูเรียบร้อย อาทิ หนูอบโอ่ง ซึ่งเป็นเมนูยอดฮิต ขายที่ตัวละ 150 บาท ซึ่งลูกค้าก็จะสั่งซื้อทุกวัน ทั้งชาวบ้านในหมู่บ้าน-ร้านอาหาร นอกจากนี้ร้านอาหารที่จำหน่ายบางร้านนำไปทำเมนูหนูหันจำหน่ายในราคาเท่ากับราคาเป็ดหัน คือตัวละ 250 บาทเลยทีเดียว ซึ่งก็มีลูกค้าสั่งซื้อหมดตลอด

“คนกินหนูอบโอ่งหรือหนูหันจะบอกว่ารสชาติออร่อยกว่าเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ เพราะหนังจะกรอบ เนื้อนุ่ม อร่อยมาก”



ณุชนกยังบอกอีกว่า อาชีพนี้ถือว่าสร้างรายได้อย่างดีและมีรายได้ทุกวันตลอดปี และขณะนี้หนูที่เลี้ยงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคด้วยซ้ำ จึงอยากให้ชาวบ้านทั่วไปที่อยากมีรายได้สามารถเลือกการเลี้ยงหนูพุกนี้ได้ เพราะลงทุนต่ำมีรายได้ตลอดปี ตนพร้อมให้คำปรึกษาและจำหน่ายพ่อ-แม่พันธุ์ให้ในราคาพิเศษเพื่อนำไปสร้างอาชีพให้ได้ หรือหากอยากกินหนูก็สามารถสั่งซื้อและสั่งทำได้ทุกวันเช่นกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้